หนึ่งในเป้าหมายในการมาเที่ยวญี่ปุ่นของใครหลาย ๆ คน คือการแวะเยี่ยมชม และสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งศาลเจ้า และวัดต่าง ๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่นับแสนแห่งทั่วประเทศ ที่มีเยอะในชนิดที่หาพบตามทางย่านต่าง ๆ ได้ทุกห้าสิบเมตร แถมหลาย ๆ ที่ยังขึ้นชื่อเรื่องขอสิ่งไหนได้สิ่งนั้นแบบติดจรวดทันใจ ขนาดนี้แล้วจะพลาดไปก็แย่แล้วใช่มั้ยล่ะ
แต่ ! การจะเข้าไปกราบไหว้บูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศแห่งมารยาทและความเคร่งครัดอย่างญี่ปุ่น ก็ยังต้องมีลำดับขั้นตอนอยู่ด้วยนะ
วันนี้ซามูไรขอมานำเสนอวิธีการที่ถูกต้อง ในการสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ทั้งวัดวาอารามและศาลเจ้าในสไตล์ญี่ปุ่น รับรองว่าหากเตรียมตัวเตรียมใจไปตามนี้ คุณจะปฏิบัติตามกฏปฏิบัติฉบับชาวญี่ปุ่นได้ไม่มีเคอะเขิน แถมยังจะทำให้การขอพรของคุณสัมฤทธิ์ผลแบบปัง ปัง ปัง คูณสิบเท่าแน่นอน !
ความแตกต่างระหว่างศาลเจ้าและวัด
ก่อนอื่น เชื่อว่ายังมีสายมูชาวไทยหลาย ๆ คน ที่แม้จะบินลัดฟ้าไปถึงญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังสับสนกับคำถามนี้อยู่ คือ “ศาลเจ้ากับวัดต่างกันยังไง ?” เราขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้
- ศาลเจ้าคืออะไร?
ศาลเจ้า (神社 ; Jinja) เป็นสถานที่สถิตของเทพเจ้า หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “คามิซามะ (神様 ; Kamisama) ” ตามความเชื่อในลัทธิชินโต อันเป็นศาสนาพื้นเมืองที่ชาวญี่ปุ่นเคารพนับถือมาตั้งแต่โบราณกาล โดยในหนึ่งศาลเจ้าจะตั้งรูปบูชาของเทพเจ้ากี่องค์ก็ได้ เทพเจ้าที่ว่า ก็จะมีตั้งแต่เทพประจำสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นลม ต้นไม้ ภูเขา หรือแม้แต่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นจักรพรรดิในยุคอดีต หรือโชกุนคนต่าง ๆ เป็นต้น
- วัดคืออะไร?
สำหรับวัด (お寺 ; Otera) เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา (仏教 ; Bukkyō) ซึ่งจะมีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูป รวมถึงรูปปั้นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ หรือเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งศาสนาพุทธ์ในนิกายนั้น ๆ ที่วัดเคารพนับถือ เนื่องจากศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีอยู่หลากหลายนิกาย ไม่ว่าจะนิกายนิชิเร็น (日蓮宗 ; Nichirenshū), นิกายชินงอน (真言宗 ; Shingonshū) หรือที่มีชื่อเสียงที่สุด อย่างนิกายเซน (禅宗 ; Zenshū)
เคล็ดลับ สักการะศาลเจ้ายังไงให้เหมาะสม
เมื่อไปเยี่ยมชมศาลเจ้า โปรดประพฤติตนให้เกียรติและแต่งกายให้เหมาะสม หากคุณไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร ให้สังเกตสิ่งที่ผู้มาเยี่ยมชมเป็นประจำและผู้ที่มาวัดทำ คุณอาจถ่ายรูปในศาลเจ้าได้ ยกเว้นภายในอาคาร ให้มองหาป้ายหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลเจ้าให้แน่ใจ
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่จำเป็นต้องตระหนักไว้เสมอ ก่อนเข้าเยี่ยมเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าหรือวัดก็ตาม คือความสำรวมและความสงบ จึงต้องแต่งกายให้เหมาะสม รวมทั้งวางตัวให้เกียรติสถานที่ก่อนเป็นอันดับแรก (แต่ถ้าหากไม่มั่นใจว่าแบบไหนจึงจะถูกต้อง แนะนำให้คอยสังเกตจากคนอื่น ๆ ที่เข้ามาสักการะเช่นเดียวกันดูก่อนได้ ยึดหลักเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามไว้ก่อนนะ)
สวนเรื่องการถ่ายภาพ โดยปกติแล้วจะสามารถแชะภาพบริเวณรอบ ๆ อาคารได้ ยกเว้นภายในตัวอาคารที่เป็นบริเวณต้องห้าม หรือหากไม่มั่นใจ ให้มองหาป้ายข้อปฏิบัติ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ดูแลศาลกันให้ดี ๆ นะ
- เข้าสู่ศาลเจ้า
เมื่อเข้ามาถึงศาลเจ้าแล้ว สิ่งแรกที่ควรต้องทำก่อนคือการโคงคำนับ แต่สิ่งที่ต้องห้ามทำเป็นอันขาดขณะเดินเข้า คือห้ามเดินเข้าประตูศาลเจ้าโดยการเดินลอดใต้ซุ้มประตูโทริอิ (Torii ; 鳥居)ไป เนื่องจากตามความเชื่อแล้ว เจ้าสิ่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้เทพเดินผ่านเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับให้คนเดินนะ - ชำระล้างร่างกายก่อนไหว้ศาล
เมื่อผ่านด่านทางเข้ามาได้แล้ว จะมีอีกจุดที่ผู้เข้าสักการะศาลเจ้าต้องแวะโดยพร้อมเพรียงกัน คือเทมิซึยะ (temizu-ya ; 手水舎) ซึ่งเป็นน้ำพุ หรือแอ่งน้ำที่สร้างขึ้นจากหิน มีไว้เพื่อให้ได้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนเข้าไปภายในตัวอาคาร เริ่มต้นด้วยการใช้กระบวยตักน้ำล้างมือซ้ายและขวาก่อนตามลำดับ จากนั้นจึงตักน้ำใส่มือซ้ายเพื่อนำมาบ้วนปาก เป็นอันเสร็จพิธี (แต่หลังจากเกิดโควิดเป็นต้นมา บางศาลเจ้าก็งดเว้นการใช้บ่อน้ำนี้ไป หรือให้งดการบ้วนปาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ) - การขอพร
ปกติแล้ว จะสามารถสักการะเทพเจ้าในศาลได้ที่ด้านหน้าห้องโถงใหญ่ ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่าฮงเด็น (Honden ; 本殿) ด้วยความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เทพเจ้าประทับอยู่ และในการสักการะศาลเจ้า อีกธรรมเนียมที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือการหย่อนเหรียญลงกล่องบูชาของศาลเจ้า จำนวนเงินที่นิยมหย่อนลงไปคือเหรียญห้าเยน เนื่องจากคำว่าห้าเยน (โกะเอน ; 五円) มีเสียงพ้องกับคำว่าโชค (โกะเอน ; ご縁) ในภาษาญี่ปุ่น จึงเชื่อว่าจะทำให้โชคดี
หากศาลเจ้าใดห้อยกระดิ่งไว้ให้เหนือกล่องใส่เงินบูชาของทางศาลด้วย อย่าลืมสั่นกระดิ่งโดยการเขย่าเชือกที่ผูกไว้ โดยถือเป็นการบอกเทพให้ทราบว่าเรามาเยี่ยมเยือนที่ศาล จากนั้นให้โค้งคำนับสองครั้ง ปรบมือสองครั้ง และเริ่มต้นขอพรตามที่ต้องการ และหลังขอพรแล้วให้โค้งอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี
นอกจากนี้ ยังสามารถแวะไปเขียนแผ่นป้ายไม้ขอพร (เอมะ ; Ema ; 絵馬) เพื่อเน้นย้ำกับท่านเทพทั้งหลายให้พรของเราสัมฤทธิ์ผลรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และนำไปแขวนบริเวณต้นไม้ใหญ่ หรือจุดที่ทางศาลเจ้าจัดไว้ให้แขวนคำขอพรโดยเฉพาะ - เช่าเครื่องรางและไอเท็มจากศาลเจ้า ความสิริมงคลในรูปแบบพกพา
ในศาลเจ้ามักเปิดให้เช่าเครื่องราง หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โอมาโมริ (Omamori ; お守り) ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถปกป้องคุ้มครองผู้สวมใส่จากโรคภัยไข้เจ็บ หรือเรียกโชคลาภทั้งด้านการเรียน การเงิน การงาน ความรัก (แต่กระซิบมาจากชาวญี่ปุ่นขนานแท้ ว่าทางที่ดีอย่าพกเครื่องรางจากหลายวัดพร้อม ๆ กันนะ ไม่อย่างนั้นพลังงานอาจจะตีกันได้ !) นอกจากนี้ยังมีเซียมซี ที่เรียกว่าโอมิคุจิ (O mikuji ; おみくじ) แบบในศาลเจ้าที่ไทยด้วย หากเสี่ยงเซียมซีแล้วจับได้ใบคำทำนายที่ดี อาจจะพกติดตัวไว้ได้เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ถ้าได้คำทำนายในแง่ลบ มักจะนิยมผูกใบคำทำนายไว้กับกิ่งไม้หรือลวดที่อยู่ใกล้ ๆ จุดเสี่ยงทาย เพื่อให้เรื่องร้าย ๆ ในคำทำนายไม่ติดตามตัวไป
และในศาลเจ้าที่ญี่ปุ่น ยังมีโกะชูอิน (Goshuin 御朱印) หรือสแตมป์ให้เลือกเก็บสะสม จนถือเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกของชาวญี่ปุ่นสายมู ซึ่งโกะชูอินของแต่ละศาลเจ้าจะมีความแตกต่างกันไป อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ตราประทับธรรมดา หรือกระทั่งงานเขียนพู่กันโดยนักบวชประจำศาลเจ้า โดยไอเท็มสำคัญสำหรับผู้สะสมโกะชูอิน คือ โกะชูอินโจ (Goshuin-chō ; 御朱印帳 ) หรือสมุดสะสมโกชูอิน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามศาลเจ้าหรือร้านเครื่องเขียนทั่วไป ส่วนสนนราคาก็มีตั้งแต่ให้ฟรี ไปจนถึงจ่ายเงินประมาณ 300 – 500 เยนต่อชิ้น
เคล็ดลับ เข้าวัดญี่ปุ่นยังไงให้เหมาะสม
เกี่ยวกับการเข้าวัดที่ญี่ปุ่น ยังคงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสุภาพและสำรวมเช่นเดียวกับการเข้าศาลเจ้า หรือใกล้เคียงกับการเข้าวัดที่ไทย และแนะนำให้ถอดหมวก และแว่นกันแดดออกเสียก่อนเข้าไปสักการะภายในวัด และอาจจะมีบางที่ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าเยี่ยมชมถอดรองเท้าก่อนเข้าไปภายในตัวอาคารด้วย และนอกจากนี้ ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการถ่ายภาพ โดยถ่ายภาพได้เพียงรอบนอกอาคาร แต่ห้ามถ่ายภายในอาคารเด็ดขาด จะลืมข้อนี้กันไม่ได้เชียวนะ
- ข้อปฏิบัติก่อนก้าวเข้าวัด
ข้อห้ามที่ควรระวังเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าประตูวัด ที่คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับข้อต้องห้ามนี้เป็นอย่างดี คืออย่าเหยียบบนธรณีประตูเป็นอันขาด และอีกข้อที่คนมักจำกันไม่ได้ แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือผู้หญิงควรก้าวข้ามธรณีประตูด้วยเท้าขวาก่อน ส่วนผู้ชายควรเริ่มต้นด้วยเท้าซ้าย
เช่นเดียวกันกับการเข้าเยี่ยมเยือนศาลเจ้า ผู้ที่เข้ามาไหว้พระในวัดจำเป็นจะต้องล้างมือและปากที่บ่อน้ำ หรือเทมิซึยะ (Temizu-ya ; 手水舎) ที่ปากทางเข้าก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งโดยส่วนใหญ่ ที่วัดมักจะมีกระถางธูปตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าวัด ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น หากร่างกายของเราได้สัมผัสกับควันธูปบนกระถาง จะช่วยเยียวยาร่างกายให้หายเจ็บป่วย มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นได้ และหากควันโดนศีรษะ จะทำให้เกิดสติปัญญาแจ่มแจ้ง ดังนั้น ก่อนผ่านเข้าไปด่านอื่น อย่าลืมแวะกวัก ๆ ควันธูปจากกระถางเข้าตัวเสียหน่อยนะ - ขอพรพระยังไงให้ถูกต้อง
สามารถสักการะบูชาพระได้ที่โถงใหญ่ของวัด โดยก่อนจะขอพรพระ ให้หย่อนเงินเหรียญลงในกล่องบูชา ซึ่งที่วัดจะแตกต่างจากศาลเจ้า คือไม่มีจำนวนเงินที่กำหนด ไม่จำเป็นต้องปรบมือก่อนอธิษฐาน เพียงแค่โค้งคำนับก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นจึงค่อยพนมมือ หรือประสานมือ และสวดภาวนา แล้วจึงโค้งคำนับอีกครั้งหนึ่งก่อนออกจากโถงหรือบริเวณวัด
นอกจากนี้ วัดบางแห่งยังเปิดพิธีสวดอวยพรโดยพระลูกวัด หรือเจ้าอาวาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมคล้ายกับที่ไทย เป้าหมายส่วนมากมักเพื่อให้พระภิกษุได้สวดภาวนาแก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและผู้ล่วงลับ โดยอาจมอบเงินบริจาคให้ทางวัดเพื่อให้พระที่วัดทำพิธีให้ได้
Tips : Japanese style Temple – stay : ‘Shukubō’ พักผ่อนพร้อมแสวงบุญในวัดญี่ปุ่น
นี่คือเทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นช่วงนี้ คือการพักค้างคืนในที่พักที่ทางวัดจัดไว้ให้ หรือที่เรียกว่าชุคุโบ (Shukubō ; 宿坊) โดยเฉพาะวัดที่มีทิวทัศน์สวย ๆ เช่นวัดที่อยู่บริเวณยอดเขา หรือริมแม่น้ำ เดิมที่การเปิดบริการชุคุโบ เป็นไปเพื่อเอื้อความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาแสวงบุญ ปฎิบัติธรรม ท่ามกลางวิถีชีวิตเรียบง่ายสมถะ พร้อมมื้ออาหารมังสวิรัติในแบบของพระญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวเวย์ใหม่ที่ทั้งอิ่มบุญ อิ่มท้อง และอิ่มใจไม่น้อยเลยว่ามั้ย
เชื่อว่าหลังจากได้เห็นเนื้อหาที่ Samurai WiFi นำมานำเสนอในวันนี้ สายมูชาวไทยหลาย ๆ คนจะต้องตาลุกวาว ถึงขั้นอยากบินไป หรือกลับไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือให้ถึงญี่ปุ่นสักครั้งอย่างแน่นอน
และถ้าหากคุณตัดสินใจเรื่องทริปมูเตลู ณ เจแปนได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าระหว่างออกทริปครั้งนี้จะใช้อินเทอร์เน็ตอะไรดี ขอแนะนำให้เลือกเรา Samurai WiFi ด้วยบริการยอดนิยม อินเทอร์เน็ตใช้งานญี่ปุ่น ทั้งในรูปแบบ Pocket WiFi, ซิมการ์ด และน้องใหม่แต่ไฟแรงอย่าง eSIM ด้วยสัญญาณคมชัด ดาต้าจัดเต็มครอบคลุมทั่วทั้งแดนอาทิตย์อุทัย ที่คุณสามารถวางใจได้ รับประกันด้วยยอดจำหน่ายถล่มทลายทุกไฮซีซัน (แอบกระซิบว่าสำหรับใครที่วางแถนไปญี่ปุ่นช่วงไฮซีซันต้องรีบจองด่วน ๆ เลยนะ จะได้สะดวกตอนใช้งานจริง)
สำหรับใครที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ช่องทางต่าง ๆ ของเราได้เลย !