ฝึกไว้จะได้ไม่เขิน! มารยาทต้องรู้ในร้านอาหารประเทศญี่ปุ่น

เพราะอาหารญี่ปุ่น คือหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารที่ขึ้นชื่อและแพร่หลายไปทั่วโลก หนึ่งในจุดมุ่งหมายหลัก ที่คนเดินทางไปญี่ปุ่นต้องตั้งเป้าไว้กันแทบทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือการชิมอาหารญี่ปุ่น ด้วยรสชาติต้นตำรับญี่ปุ่น ในร้านอาหารโลคอลฉบับญี่ปุ่นขนานแท้ให้จุใจ จนต้องเที่ยวตามหาร้านอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมกันให้ควั่ก

ทว่าอีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกัน คือส่วนใหญ่ร้านจำพวกนี้ จะเป็นร้านที่มีลูกค้าหลักเป็นคนญี่ปุ่นในพื้นที่ และอย่างที่รู้ ๆ กัน ว่าประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการใช้ขีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผน จึงเคร่งอย่างมากกับการวางตัวในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงในร้านอาหารด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากคนต่างชาติอย่างเราทำสิ่งไหนผิดจากมารยาทที่ควรจะเป็น นอกจากจะกลายเป็นการสร้างความรู้สึกแง่ลบต่อคนญี่ปุ่นแล้ว ยังอาจทำให้ไม่ได้รับอรรถรสในการทานอาหารมื้อนั้น ๆ ไ้ด้เท่าที่ควรอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ทุกมื้อของทุกคนเป็นไปอย่างราบรื่นและเลิศรสที่สุด วันนี้เราจึงขอรวบรวมทุกข้อควรรู้ และมารยาทพึงปฏิบัติในร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดไว้ในบทความนี้ที่เดียว รับรองว่าหากปฏิบัติตามนี้ได้ การทานอาหารในร้านที่มีแต่คนญี่ปุ่น หรือแม้แต่การร่วมโต๊ะกับคนญี่ปุ่นก็จะกลายเป็นเรื่องสบาย ๆ รับมือได้แบบไม่มีเคอะเขินอย่างแน่นอน

เริ่มต้นเข้าร้านอาหาร

โดยปกติแล้ว ด้านหน้าของร้านอาหารส่วนใหญ่ จะจัดโชว์แบบจำลองเมนูอาหารที่ทางร้านวางขายไว้ สำหรับดึงดูดลูกค้า และเป็นช้อยส์ให้ลูกค้าตัดสินใจก่อนเดินเข้ามาสั่งในร้าน แถมยังเป็นประโยชน์มากสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ที่จะได้อาศัยชี้ที่เมนูเพื่อสั่งอาหารกับพนักงานได้ (ซึ่งปัจจุบัน ร้านอาหารในไทยกว่า 80% ก็นำเอาจุดนี้มาปรับใช้ด้วยแล้ว)

เมื่อเข้ามานั่งในร้าน (ซึ่งในร้านส่วนใหญ่จะมีพนักงานเชิญเข้าไปนั่ง) หากเป็นร้านที่ค่อนข้างเก่าแก่ หรือเน้นสไตล์ดั้งเดิม จะเป็นโต๊ะเตี้ย และเบาะรองนั่งสำหรับนั่งบนพื้นเสื่อทาทามิ และหากเป็นร้านที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย จะเป็นโต๊ะเก้าอี้สไตล์ตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีร้านที่มีโต๊ะทั้งสองรูปแบบให้บริการด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเป็นร้านรูปแบบนี้ จะสามารถรีเควสได้เองว่าสะดวกนั่งตรงไหน

ทั้งนี้ ถ้าเลือกจะนั่งที่โต๊ะนั่งพื้น ลูกค้าทุกคนจำเป็นต้องรองเท้าก่อนเข้าไปในโซนรับรองลูกค้านะ

นอกจากนั้น อีกหนึ่งมารยาทที่กึ่ง ๆ จะเป็นกฏหมาย คือการห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ประกาศใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา แต่ในบางร้าน อาจมีจุดที่จัดไว้สำหรับให้สูบบุหรี่อยู่ด้วย โดยสังเกตได้จากป้ายที่ติดไว้ตรงทางเข้าหน้าร้านนั่นเอง

การสั่งอาหาร

หลังจากจับจองที่นั่งแล้ว สิ่งที่ควรรู้ไว้ คือร้านอาหารที่ญี่ปุ่นมักมีบริการน้ำดื่ม หรือชาฟรีสำหรับลูกค้าอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ซึ่งบางร้านจะไม่มีพนักงานมาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะ แต่จะตั้งจุดบริการตัวเองไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของร้านแทน นอกจากนี้ ทางร้านยังมักจัดเตรียมผ้าเย็น (โอชิโบริ oshibori) ไว้ให้ลูกค้าสำหรับเช็ดมือเพื่อความสะอาดก่อนลงมือทานอาหารด้วย

ส่วนเรื่องเมนู ส่วนใหญ่แผ่นเมนูอาหารในร้านที่ญี่ปุ่นจะมีภาพประกอบอยู่ แต่ในกรณีที่เลือกร้านอาหารที่ค่อนข้างเก่าแก่ รายการอาหารอาจมีเพียงตัวหนังสือติดข้างผนังแทนรูปเล่มหรือแผ่นกระดาษวางตามโต๊ะ แถมที่อาจลำบากกว่านั้น คือใบเมนูในร้านอาหารโลคอลส่วนใหญ่ไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ!! (ก็อย่างที่พอเดาได้ เพราะส่วนใหญ่ร้านพวกนี้มีลูกค้าหลักเป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันอยู่แล้วน่ะสิ)

และหากเกิดปัญหาเรื่องอ่านเมนูไม่ออกเพราะมีแต่ภาษาญี่ปุ่นล้วน หรือต่อให้ดูจนทะลุปรุโปร่งทุกหน้าแล้วก็ยังไม่รู้จะกินอะไร อาจจะลองถามเมนูแนะนำจากพนักงาน (osusume) หรือให้เชฟเลือกให้เอง (omagase) ก็ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องทำใจสักหน่อยหากเลือกช้อยส์หลัง คือนอกจากความตื่นเต้นกับรสชาติและหน้าตาอาหารที่คาดเดาไม่ได้แล้ว ราคาอาหารที่เชฟรังสรรค์ให้ใหม่นี้ยังมีโอกาสพุ่งสูงกว่าเมนูปกติอื่น ๆ ด้วย แต่เพื่อแลกประสบการณ์แปลกใหม่แล้ว บางทีอาจจะคุ้มค่ากว่าที่คิดก็ได้ ใครจะรู้ !

ถ้าหากพร้อมสั่งอาหารแล้ว สามารถเรียกพนักงานมาที่โต๊ะได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกโดยการพูด “ซุมิมะเซน” (ขอโทษนะคะ) หรือกดปุ่มโทรออกที่ติดบนโต๊ะ (ถ้ามี) และโดยส่วนใหญ่แล้ว คนญี่ปุ่นจะสั่งอาหารแยกจานกัน รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นจะจัดอาหารหนึ่งจานไว้สำหรับหนึ่งคนทานเท่านั้น การวางอาหารทุกทางไว้กองกลางและแชร์กันทานแบบที่คนไทยมักทำกัน ไม่ใช่สิ่งที่คนญี่ปุ่นคุ้นชินนัก เว้นเสียแต่จะเป็นร้านอิซากายะ (izakaya) สำหรับกินดื่มสังสรรค์โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นระวังจุดนี้ไว้หน่อยก็ไม่เสียหาย

มารยาทการกิน

สำหรับมารยาทพื้นฐานที่บนโต๊ะอาหารของชาวไทยและชาวญี่ปุ่นค่อนข้างถือไม่ต่างกัน คือไม่ควรเรอ สั่งน้ำมูกบนโต๊ะ เคี้ยวอาหารแบบไม่ปิดปาก หรือเคี้ยวอาหารเสียงดัง แถมในประเทศญี่ปุ่นที่ซีเรียสเรื่องมารยาทและความเป๊ะ ยังเคร่งมากกว่าในไทยเสียอีกด้วย เพราะฉะนั้น ต่อให้อยากปล่อยตัวตามสบายแค่ไหนก็ต้องรักษามารยาทจุดนี้ไว้ให้ดี อย่าได้เผลอทำเด็ดขาดเชียวนะ

แต่มารยาทหนึ่งที่แตกต่างจากไทยเล็กน้อย คือควรทานอาหารที่สั่งมาให้หมด เพราะนอกจากจะลดปัญหาเรื่อง food waste ที่ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ตระหนักกันอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังถือเป็นการให้เกียรติเชฟผู้ปรุงอาหารในอีกทางหนึ่ง โดยในกรณีที่เช็คจากเมนูแล้วมีสิ่งที่ไม่ชอบหรือกินไม่ได้ แนะนำให้แจ้งกับทางร้านไว้ล่วงหน้าตอนสั่ง เพราะทางร้านอาจจัดเตรียมวัตถุดิบอื่นมาให้ทดแทนได้ หรือหากสุดวิสัย แนะนำให้ทิ้งเฉพาะสิ่งที่ไม่กินไว้ในจานดังเดิม นอกจากนี้ หากยังไม่อิ่ม ระหว่างทานอย่าเพิ่งวางตะเกียบขวางบนจาน เพราะจะถือเป็นการส่งสัญญาณให้คนในร้านเข้าใจว่าอิ่มแล้ว และสามารถเก็บจานได้นั่นเอง

นอกจากนี้ หลังจบมื้ออาหาร ควรวางตะเกียบที่ใช้คีบอาหารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  เช่น วางไว้บนที่วางพักตะเกียบหรือข้างจาน หรือหากเป็นตะเกียบใช้แล้วทิ้งที่มาในซอง อาจให้วิธีการพับซองตะเกียบสำหรับรองปลายตะเกียบแทนที่วางตะเกียบก็ได้ รวมถึงจัดวางจานชามไว้ในตำแหน่งเดิมตอนยกมาเสิร์ฟด้วย

เมนูไหน กินยังไงถึงจะถูกมารยาท?

วิธีการรับประทานอาหารแต่ละประเภทให้ตรงตามมารยาท ถูกวิธี และได้รับรสชาติที่อร่อยที่สุด แนะนำให้ทำตามนี้

ข้าว

การเสิร์ฟข้าวเปล่าหุงสุกในร้านอาหารญี่ปุ่น มักมาในถ้วยขนาดเล็กพอดีมือ มารยาทการกินข้าวที่ถูกต้อง คือให้ถือถ้วยใส่ช้าวด้วยมือข้างหนึ่ง และใช้มืออีกข้างที่ถนัดถือตะเกียบสำหรับคีบข้าวเข้าปาก ไม่ควรกินโดยวางถ้วยไว้บนโต๊ะ (ถือเป็นการเสียมารยาทแบบสุด ๆ) และที่สำคัญ อย่าเทโชยุลงไปบนข้าวโดยตรง หากจำเป็นต้องปรุงเพิ่มในกับข้าว ให้ใช้วิธีคีบกับข้าวจิ้มแทนจะดีกว่า

ซูชิ

แม้ซูชิจะมีหลายแบบหลายหน้า แต่โดยรวมที่ควรรู้ไว้ตอนทานซูชิที่ร้าน คือไม่ควรเทโชยุไว้นอกจานเล็กที่ทางร้านเตรียมไว้ให้สำหรับใส่โชยุ และไม่ควรเทโชยุเกินกว่าปริมาณที่จะกินโดยเด็ดขาด หากไม่มั่นใจว่าจะใช้มากน้อยเท่าใด แนะนำให้เททีละนิดและทยอยเติมจะดีกว่า นอกจากนี้ ตามเคาท์เจอร์ของชาวญี่ปุ่นที่คนไทยหลายคนยังไม่รู้ คือไม่ควรละลายวาซาบิลงไปในโชยุ เพราะโดยปกติในซูชิแต่ละคำ เชฟจะเติมวาซาบิไว้ให้อยู่แล้ว รวมถึงการละลายวาซาบิกับโชยุจิ้ม จะทำให้เสียรสชาติที่ควรจะเป็นของทั้งวาซาบิและโชยุไปด้วย เพราะฉะนั้นแนะนำว่าให้แยกวาซาบิกับซอสโชยุจากกัน แล้วใช้วิธีแตะวาซาบิบนซูชิแต่ละคำก่อนทานดีกว่า (หรือถ้าใครไม่ถูกโฉลกกับรสฉุนขึ้นจมูกของเจ้าวาซาบินี้ อาจจะแจ้งเชฟให้ไม่ต้องใส่ตั้งแต่ตอนสั่งอาหารก็ยังได้)

การทานซูชิ สามารถใช้ได้ทั้งตะเกียบคีบและมือหยิบ (ถ้าไม่มั่นใจว่าควรทำยังไง จะถามเชฟที่ร้านดูก่อนก็ได้) และควรกินหนึ่งคำในรอบเดียว ไม่ควรกัดแบ่งหลายรอบ เพราะนอกจากจะเป็นกิริยาที่ดูไม่เหมาะบนโต๊ะอาหารแล้ว ยังจะทำให้ซูชิสวย ๆ ที่เชฟบรรจงปั้นเละกระจุยกระจายโดยใช้เหตุอีกต่างหาก

หากเป็นนิกิริซูชิ หรือข้าวปั้นวงรีที่ท็อปด้วยหน้าต่าง ๆ หากต้องการจิ้มโชยุเพื่อเพิ่มรสชาติ แนะนำให้จิ้มโดยการคว่ำส่วนที่เป็นเนื้อปลาลงไปสัมผัสกับซอส เพื่อให้เนื้อปลาดูดซับรสของซอสแทนข้าว ส่วนในคำที่มีการหมักปรุงรสเนื้อปลามาแล้ว หากไม่จิ้มโชยุอาจจะอร่อยกว่า (นอกจากไม่เค็มเกินแล้ว ยังเป็นการถนอมไตไม่ให้พังด้วยนะจะบอกให้) 

ส่วนถ้าเป็นกุงกัง มากิ หรือซูชิที่ห่อสาหร่ายโปะด้วยท็อปปิงต่าง ๆ แนะนำว่าให้เทโชยุปริมาณพอเหมาะบนตัวซูชิแทนการจิ้มลงจานซอสจะดีกว่า ป้องกันไม่ให้หน้าซูชิต้องหกคะเมนตีลังกาอย่างน่าเสียดาย

ซาชิมิ

วิธีการกินซาชิมิให้อร่อยและตรงตามมารยาท ไม่ต่างกันกับเมนูประเภทซูชิสักเท่าไหร่ คือให้ป้ายวาซาบิบนซาชิมิแต่ละชิ้นในปริมาณพอเหมาะ จากนั้นค่อยจุ่มลงในจานโชยุ อย่าให้มากจนเกินไปเพราะอาจทำให้เสียรสชาติของเนื้อปลาได้ (นอกจากนี้ ยังมีซาชิมิบางอย่างที่นิยมทานคู่กับขิงบดมากกว่าวาซาบิด้วย ถ้าอยากรู้ว่ากินกับอะไรอร่อยสุด จะขอคำแนะนำจากเชฟหรือพนักงานดูก็ได้)

ซุปและเมนูเส้น

กรณีที่มาเฉพาะซุป ซึ่งเป็นเครื่องเคียงในเมนูอาหาร อย่างเช่นซุปมิโสะ วิธีการที่ถูกต้องคือการยกซดจากถ้วยซุป และคีบของที่เป็นชิ้นในถ้วย เช่นสาหร่าย เต้าหู้หรืออื่น ๆ กินด้วยตะเกียบ ส่วนถ้าเป็นเมนูเส้นอย่างราเมงหรืออุด้ง แนะนำว่าให้ใช้ตะเกียบคีบเส้นรับประทาน ระวังอย่าให้เส้นตกกลับลงไปในถ้วยที่มีซุปอยู่ และใช้ช้อน (ส่วนใหญ่มักเป็นช้อนเซรามิกหรือกระเบื้อง) ตักน้ำซุป แต่ถ้าแขนแข็งแรง และสกิลสูงมากพอ  จะยกชามราเม็งขึ้นซดแบบไม่ใช้ช้อนเลยก็ได้ (เตือนว่าระวังเลอะด้วยล่ะ)

และอีกมารยาทหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่น แต่อาจไม่คุ้นชินนักสำหรับคนไทย คือมักจะมีเสียงสูดเส้นดัง ๆ ให้ได้ยินเป็นระยะ ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าอาหารมื้อนั้นอร่อยถูกปาก และการสูดเส้นยังเป็นการเปิดประสาทสัมผัสเรื่องกลิ่นให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย (แต่ถ้าเราที่เป็นนักท่องเที่ยวจะไม่สะดวกทำตามก็ไม่เป็นไรหรอก)

เมนูข้าว พร้อมน้ำแกง หรือซอสราด

เมนูประเภทข้าวพร้อมน้ำแกง เช่นแกงกะหรี่ หรือเมนูดงบุริบางประเภท อาจใช้ตะเกียบคีบทานยากอยู่สักหน่อย เนื่องจากข้าวที่โดนน้ำแกงและซอสจะมีความแฉะ แนะนำให้ใช้ช้อนตักจะดีกว่า ทั้งดูเรียบร้อยและไม่เสี่ยงหกเลอะเทอะด้วย

อาหารชิ้นใหญ่ (เช่นเทมปุระ เต้าหู้ โคโระเกะ)

เพื่อความสุภาพระหว่างกิน และไม่ให้ชิ้นอาหารตกระหว่างที่กินอยู่ แนะนำให้แบ่งอาหารออกเป็นชิ้นพอดีคำ (บางเมนูอาจจะต้องออกแรงนิดหน่อยด้วย) แต่ถ้ามั่นใจวาสกิลตะเกียบของตัวเองดีแล้ว ก็คีบทั้งชิ้นแล้วแบ่งกัดทีละคำก็ได้ (คงไม่มีใครสามารถกินอาหารชิ้นใหญ่ ๆ หมดได้ในคำเดียวหรอกถูกมั้ย…)

สำคัญ ! ว่าด้วยเรื่องการใช้ตะเกียบ

หากจะกล่าวถึงอาหารญี่ปุ่น จะหลงลืมอาวุธคู่ใจอย่างตะเกียบ (箸, ฮาชิ) ไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะต้องใช้สำหรับทานอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกเมนู เพราะฉะนั้น วิธีการใช้ตะเกียบที่ถูกต้องจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างแยกไม่ได้

กฎเหล็กที่ต้องจำให้ขึ้นใจ เกี่ยวกับการใช้ตะเกียบที่ถูกหลักและถูกมารยาท มีดังนี้

  • จับตะเกียบเฉพาะตรงด้าน ไม่จับจากส่วนกลางหรือชิดกับปลายตะเกียบ

  • เมื่อจบมื้ออาหารแล้ว ให้วางตะเกียบไว้ด้านหน้าตนเอง โดยจัดให้ปลายตะเกียบชี้ไปด้านซ้าย (หรือหากถนัดซ้ายให้หันไปด้านขวาแทน)

  • อย่าปักตะเกียบบนชามข้าวหรือจานอาหารเด็ดขาด (เพราะปกติจะทำเฉพาะในสำรับอาหารสำหรับตั้งหน้าโลงในงานศพเท่านั้นน่ะสิ!)

  • อย่าใช้ตะเกียบคีบรับส่งอาหารต่อกันโดยตรง (เพราะจะเหมือนการใช้ตะเกียบคีบกระดูกคนตายส่งต่อกันในงานศพตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น)

  • ไม่ใช้ตะเกียบปักอาหารขึ้นมารับประทาน

  • ห้ามยกตะเกียบขึ้นชี้ ไม่ว่าจะชี้อาหาร หรือชี้หน้าคนร่วมโต๊ะ (อย่างหลังยิ่งไม่ได้เด็ดขาด)

  • อย่าโบก เหวี่ยง สะบัดตะเกียบไปมาในอากาศ เหนือจานอาหารที่แชร์ร่วมกับคนอื่น หรือระหว่างอยู่บนโต๊ะอาหาร (อย่าลืมว่านี่คือตะเกียบ ไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์พ่อมดแม่มดแต่อย่างใดนะทุกคน)

  • อย่าใช้ตะเกียบดันจานและชามให้เคลื่อนที่

  • พยายามอย่าให้ตะเกียบแฉะ หรือมีน้ำหยดติ๋ง ๆ ลงมาจากปลายตะเกียบระหว่างคีบอาหารรับประทาน

คำอธิบายวิธีการใช้ตะเกียบที่ถูกต้อง

Tips : ตะเกียบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ต่างกันยังไง ทำไมต้องมีรูปร่างแบบนี้

เจ้าตะเกียบที่พูดถึงนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างสามชนชาติ ได้แก่ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งตะเกียบในลักษณะของแต่ละเชื้อชาติก็มีความแตกต่างกัน เพราะมีเหตุผลเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซ่อนอยู่

ตะเกียบแบบจีน (ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาแบบเต็ม ๆ พร้อมการอพยพเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต) จะยาวกว่าตะเกียบของชาติอื่น ๆ ด้วยวัฒนธรรมการกินที่แชร์กับข้าวร่วมกัน จึงต้องออกแบบมาให้ยาว เพื่อให้เอื้อมคีบอาหารบนโต๊ะได้สะดวก ส่วนตะเกียบแบบญี่ปุ่นจะสั้นและเรียวเล็กกว่า เพราะคนญี่ปุ่นรับประทานอาหารจากจานแยกของตัวเอง และจำเป็นต้องใช้ปลายตะเกียบเรียวแหลมในการคีบเลาะก้างปลา เพราะปลาถือเป็นองค์ประกอบหลักให้เมนูอาหารกว่า 80 – 90% จากเมนูอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนตะเกียบเกาหลีที่แตกต่างจากเพื่อนที่สุด คือทำจากโลหะ และมีลักษณะแบน เพราะในสมัยโบราณ นางในวังเกาหลีจะใช้ตะเกียบเงินเพื่อคีบชิมอาหาร ทดสอบพิษก่อนนำขึ้นโต๊ะเสวย ด้วยความเชื่อว่าเงินจะทำปฏิกิริยากับพิษได้ และออกแบบมาให้แบนเพื่อความง่ายต่อการผลิต กระทั่งแพร่หลายสู่ชาวบ้านทั่วไป โดยการเปลี่ยนมาใช้โลหะธรรมดา และส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลทั้งหมดที่เรารวบรวมมา เพื่อคนรักประเทศญี่ปุ่นและอาหารญี่ปุ่นในบทความนี้ เชื่อว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่จะไปตะลุยกินที่ญี่ปุ่นในโอกาสที่จะถึง เพราะนอกจากจะเป็นมารยาทที่ทำให้กลมกลืนกับคนโลคอลได้แบบไม่มีเขินแล้ว ยังจะทำให้มื้ออาหารนั้น ๆ ของทุกคนอร่อยขึ้นแบบ 300% อีกต่างหาก ทีนี้การเข้าร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องชวนเกร็งอีกต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะต้องค้นหาข้อมูลร้านอาหาร ไม่ว่าจะเสิร์ชหารีวิวร้านเด็ด หรือเปิดแมพหาเส้นทางไปที่ร้าน จะขาดอินเทอร์เน็ตไฮสปีดสำหรับใช้งานไปไม่ได้เด็ดขาด เราขอแนะนำบริการอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบ Pocket WiFi, ซิมการ์ด และ eSIM จาก Samurai WiFi และ Samurai Sim ที่มาพร้อมกับปริมาณแพ็กเกจที่เลือกได้ดั่งใจ คุ้มค่าคุ้มราคา แถมยังมีเจ้าหน้าที่คอยสแตนบาย อำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นจนจบทริปอีกต่างหาก ถ้าไม่อยากพลาดเพื่อนร่วมทางดี ๆ แบบเรา รีบติดต่อตามช่องทางด้านล่างแบบด่วน ๆ !

Scroll to Top